นักลงทุนสัมพันธ์

การป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น

    บริษัทไม่สนับสนุนการทุจริต และคอร์รัปชั่น ที่อาจเกิดขึ้นในภาครัฐ และต่อต้านการทุจริตทุกประเภทในองค์กร ปัจจุบันบริษัทได้กำหนดให้การต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ตามหลัก CG Code ซึ่งคณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ ติดตาม ตรวจสอบ ดูแล ให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายต่างๆ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับ “กฎหมายเกี่ยวกับการห้ามจ่ายสินบน หรือสนับสนุนการคอร์รัปชั่น” และรวมถึงหน้าที่การดูแลให้มีการดำเนินการต่างๆตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น 5 ข้อ โดยคณะกรรมการพยายามจะให้มีการทบทวนความเหมาะสมของนโยบายดังกล่าวอย่างน้อยทุกปี

    

การดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น 5 ข้อ ได้แก่

1.  การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น: บริษัทมีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของฝ่ายต่างๆทั้งองค์กร หากกิจกรรมใดมีความสุ่มเสี่ยงในด้านการเรียกร้องผลประโยชน์หรือเสี่ยงต่อการแสดงอำนาจหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม หัวหน้างานและฝ่ายจัดการจะนำเสนอประเด็นความสี่ยงดังกล่าวต่อ ผู้บริหารหรือเลขานุการบริษัทเพื่อให้นำไปพิจารณาหาวิธีป้องกันการเกิดคอร์รัปชั่นต่อไป

2.  กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุม ป้องกัน และติดตามความสี่ยงจากการคอร์รัปชั่น: ฝ่ายบริหารจะออกแบบขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆภายในบริษัทให้ระบบมีการคานอำนาจ และมีการสอบทานระหว่างบุคคลหรือระหว่างฝ่ายต่างๆอยู่เกือบทุกขั้นตอน เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นภายในองค์กร หรือระหว่างองค์กรได้ อีกทั้ง ปัจจุบันบริษัทพยายามให้กระบวนการปฏิบัติงานในหลายๆฝ่ายใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบการทำงานเป็นไปอย่างเป็นธรรม เป็นขั้นเป็นตอนตามนโยบายของฝ่ายนั้นๆ และสามารถตรวจสอบได้

3.  การสื่อสารและฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชั่น: บริษัทสื่อสาร ส่งเสริมและปลูกฝังให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งของบริษัทและของรัฐ ซึ่งทางบริษัทได้มีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้สำหรับบุคลากรทุกคนไว้ใน “คู่มือจริยธรรมธุรกิจ” (Code of Business Conduct) ของบริษัท (ดังปรากฏในเว็บไซต์ของบริษัท และประกาศ ณ สถานที่ทำงาน) นอกจากนี้ หากมีเหตุกาณ์สุ่มเสี่ยงเกิดขึ้นกระทันหัน ฝ่ายบริหารจะให้ติดประกาศ และให้ฝ่ายบุคคลทำการสื่อสารให้พนักงานทั้งองค์กรทราบถึงเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงและบทลงโทษนั้นๆ เป็นครั้งคราวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในขณะเดียวกันทางคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบได้เปิดโอกาสให้บุคลากรทุกฝ่ายภายในบริษัทและบุคคลภายนอกสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสกรณีการทุจริตได้ โดยผ่านทางช่องทาง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นในหลักการ CSR ข้อ 2 “การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” อีกทั้งปัจจุบัน ฝ่ายบุคคลได้บรรจุหลักสูตรการอบรมเรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ให้เป็นหลักสูตรหนึ่งในบรรดาหลักสูตรประจำปีของบริษัทแล้ว

4.  แนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น: นอกเหนือจากการติดตามโดยฝ่ายบริหารและเลขานุการบริษัทในปัจจุบันแล้ว เมื่อครั้นการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 (วันที่ 29 มีนาคม 2562) ผู้ถือหุ้นได้รับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ (CG Committee) ขึ้นครั้งแรก เพื่อเป็นคณะทำงานในการติดตามในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมกับฝ่ายบริหารและเลขานุการบริษัท เพื่อรายงานผลโดยตรงต่อคณะกรรมการบริษัทในการประเมินผล และทบทวนถึงความเหมาะสมของขั้นตอนการปฏิบัติงานภายในต่างๆที่มีความเสี่ยง และให้ความเห็น ซึ่งจะบันทึกอยู่ใน “รายงานการทบทวนการปฏิบัติบัติตาม CG Code” ในทุกปี

5.  การให้คณะกรรมการตรวจสอบหรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบสอบทานความครบถ้วนเพียงพอของกระบวนการทั้งหมด: ทางบริษัทได้ว่าจ้างสำนักงานตรวจสอบบัญชี ไอ.เอ็น.เจ. เป็นผู้ทำหน้าที่ฝ่ายกำกับและตรวจสอบภายใน  รวมถึงการจัดทำแผนการตรวจสอบภายใน เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทให้พิจารณาประสิทธิภาพระบบการทำงานของบริษัท

 

     ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้ประกาศแสดงเจตนาเข้าร่วม “โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)” (Thailand’s Private Sector Collective Action against Corruption (CAC))  เนื่องจากบริษัทได้มีการศึกษาถึงข้อปฏิบัติและลองทำการศึกษาแบบประเมินตนเองที่มีประมาณ 71 ข้อ แล้วเห็นว่า ทางบริษัทยังไม่พร้อมดี เนื่องจากพนักงานของบริษัทมีทั้งระดับสำนักงานและโรงงาน ในบางหน่วยงานยังคงต้องใช้เวลาในการปลูกฝังและปรับตัวอยู่มาก ซึ่งหากประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการฯแล้วบริษัทจะต้องปฏิบัติให้ได้ภายใน 18 เดือน ทางบริษัทจึงจำเป็นต้องการระยะเวลาในการเตรียมตัวและปรับปรุงองค์กรให้พร้อมอย่างดีก่อน

     อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้ชี้แจงไว้ในเบื้องต้นแล้วว่าบริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการกิจกรรมในด้านต่างๆที่เป็นการป้องกันและไม่สนับสนุนการคอร์รัปชั่น จึงแสดงให้เห็นได้ว่าทางคณะกรรมการบริษัทได้รับทราบถึงหน้าที่และเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องควบคุมดูแลให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ปราศจากการคอร์รัปปชั่นทั้งในองค์กรเอง และกับภาครัฐ